คลังสินค้า เป็นหัวใจสำคัญของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการจัดเก็บและกระจายสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ผู้ประกอบการหลายคนอาจยังไม่ทราบว่า คลังสินค้ามีหลากหลายประเภท แบ่งตามลักษณะงานและประเภทของสินค้าที่จัดเก็บ ซึ่งออกแบบมาเพื่อตอบสนองการใช้งานที่แตกต่างกัน ดังนั้น การทำความเข้าใจว่าคลังสินค้ามีกี่ประเภท และมีอะไรบ้าง จึงเป็นเรื่องสำคัญในการเลือกใช้งานให้ตรงกับความต้องการของธุรกิจมากที่สุด
ประเภทคลังสินค้าแบ่งตามลักษณะงาน
การแบ่งประเภทคลังสินค้าตามลักษณะงาน โดยจะมีการจัดเก็บและกระจายสินค้าตามเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจง ดังนี้
1. คลังสินค้าแบบศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center : DC)
เป็นคลังสินค้าที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ รองรับสินค้าปริมาณมาก ทำหน้าที่ในการจัดเก็บและกระจายสินค้าไปยังจุดจำหน่ายต่าง ๆ ทั่วไป เป็นสื่อกลางระหว่างผู้ผลิตและผู้ค้าปลีก ทำให้ผู้ค้าปลีกสามารถนำสินค้าตรงไปจำหน่ายได้ทันทีโดยไม่ต้องเก็บสินค้ารอในคลัง เหมาะสำหรับธุรกิจที่ต้องการความรวดเร็วในการส่งมอบและลดขั้นตอนการจัดเก็บในจุดจำหน่าย
2. คลังสินค้าแบบศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า (Cross Dock)
คลังสินค้าแบบ Cross Dock ใช้สำหรับการรับและส่งสินค้าในเวลาเดียวกัน โดยสินค้าไม่จำเป็นต้องถูกจัดเก็บไว้ในคลังเป็นเวลานาน แต่จะถูกส่งตรงไปยังจุดหมายต่อไปทันที จึงช่วยลดขั้นตอนในการจัดเก็บและการบริหารจัดการสต๊อก ทำให้เหมาะกับธุรกิจที่ต้องการกระจายสินค้าให้ถึงลูกค้าได้เร็วที่สุด เช่น การจัดส่งสินค้าที่มีความต้องการเร่งด่วน หรือสินค้าที่มีอายุการใช้งานสั้น
3. คลังสินค้าแบบบริหารจัดการ (Fulfilment Center)
คลังสินค้าแบบ Fulfilment Center เป็นที่นิยมสำหรับธุรกิจ E-commerce โดยเฉพาะ เนื่องจากมีการจัดการตั้งแต่การรับสินค้า การแพ็ก ไปจนถึงการจัดส่งในที่เดียว ช่วยลดขั้นตอนการบริหารสต๊อกและการขนส่งให้ร้านค้าออนไลน์ อีกทั้งสามารถรองรับการจัดการออร์เดอร์พร้อมกันหลายรายการ ทำให้บริการลูกค้าสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
ประเภทคลังสินค้าตามลักษณะสินค้าภายในคลัง
การแบ่งประเภทคลังสินค้าตามลักษณะสินค้าที่จัดเก็บ จะช่วยให้ธุรกิจสามารถดูแลและจัดเก็บสินค้าได้อย่างปลอดภัย และตรงตามความต้องการของสินค้าแต่ละประเภท
- คลังสินค้าทั่วไป เหมาะสำหรับจัดเก็บสินค้าทั่วไป เครื่องมือและของใช้ในชีวิตประจำวัน ที่ไม่จำเป็นต้องมีการควบคุมอุณหภูมิหรือความชื้น
- คลังสินค้าของสด ออกแบบมาเพื่อจัดเก็บสินค้าที่ต้องการการควบคุมอุณหภูมิ เช่น เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ เพื่อรักษาความสดและยืดอายุการเก็บรักษา
- คลังสินค้าอันตราย ใช้สำหรับจัดเก็บสินค้าที่มีความเสี่ยงสูง เช่น สารเคมีและวัตถุไวไฟ จึงมีมาตรการความปลอดภัยเข้มงวด เช่น การป้องกันไฟไหม้และการระบายอากาศที่ดี
- คลังสินค้าพิเศษ เหมาะสำหรับเก็บสินค้าที่มีมูลค่าสูงหรือสินค้าที่ต้องการการควบคุมอุณหภูมิและความชื้นเป็นพิเศษ เช่น เครื่องสำอาง ยา และเวชภัณฑ์ ที่มีระบบรักษาความปลอดภัยสูงและควบคุมสภาพแวดล้อมอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันการเสื่อมคุณภาพของสินค้า
ข้อควรปฏิบัติเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในคลังสินค้า
การจัดการคลังสินค้าให้ปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อลดความเสี่ยงและอุบัติเหตุ ดังนั้น การปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยจะช่วยให้การดำเนินงานในคลังเป็นไปอย่างราบรื่น
- จัดระเบียบพื้นที่ภายในคลัง ให้มีทางเดินสะดวกและปลอดภัยในการเคลื่อนย้ายสินค้า เพื่อป้องกันสิ่งกีดขวางและอุบัติเหตุ
- สวมอุปกรณ์นิรภัยทุกครั้งที่ปฏิบัติงาน เช่น หมวกนิรภัย รองเท้าเซฟตี้ หรือเสื้อสะท้อนแสง โดยเฉพาะในมุมอับหรือพื้นที่เสี่ยง
- ดูแลรักษาพื้นที่และอุปกรณ์ให้สะอาดและพร้อมใช้งานเสมอ เช่น ชั้นวางสินค้าอุตสาหกรรม แร็ก และรถขนย้ายต่าง ๆ
- ปฏิบัติตามกฎระเบียบ และมาตรฐานความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด
แหล่งอ้างอิง
- 10 Common Warehouse Types and Their Usesสืบค้นเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 จาก https://www.autostoresystem.com/insights/10-common-warehouse-types-and-their-uses